วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การใช้ยา ( Ep. 0 )

       แม้ว่าในฉลากยา จะระบุให้ผู้ใช้ยาทั่วไปได้ทราบถึงวิธีใช้ยาและความถี่ของการใช้แล้วก็ตามนะครับ ผู้ใช้ยาควรทราบถึงความหมายของคำต่าง ๆ ที่พบเสมอในฉลากยา นอกจากนี้ยังมียาอีกหลายรูปแบบ ที่ผู้ใช้ยาควรทราบวิธีใช้ยาเพิ่มเติม เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้ยาครับ 
     ซึ่งก่อนอื่นเราจะมาดูถึงการใช้ยาโดยการรับประทานกันก่อนนะครับ ยาประเภทนี้มีมากมายหลายชนิด สาเหตุที่ยาส่วนมากนั้นเป็นยาประเภทรับประทาน นั่นก็เพราะว่าสะดวกสบายต่อผู้บริโภค และสะดวกสบายต่อผู้ผลิตด้วยเช่นกันครับ วิธีการใช้ยาพวกนี้ก็คือการรับประทานเข้าไป ยกเว้นแต่ว่าเป็นยาผง ซึ่งจะกล่าวในถัดไปนะครับ โดยยาประเภทนี้สามารถแบ่งตามเวลาการรับประทานได้ดังนี้ครับ 


     1. รับประทานก่อนอาหาร โดยทั่วไปหมายความว่า ก่อนอาหารอย่างน้อยครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงเพื่อให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิตได้ดีนั่นเอง ซึ่งหากรับประทานพร้อมหรือหลังอาหารทันทีจะทำให้การดูดซึมของยาลดลงมาก หากลืมรับประทานก่อนอาหารให้รับประทานหลังอาหารอย่างน้อย 2 ชั่วโมง สำหรับยาที่ออกฤทธิ์ไปเพิ่มการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งใช้รักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน ให้รับประทานก่อนอาหารเพื่อที่จะได้ออกฤทธิ์ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เมื่อรับประทานอาหารลงไปได้ทัน
     2. รับประทานหลังอาหาร โดยทั่วไปหมายความว่าหลังอาหารอย่างน้อย 15 นาที ยาที่ให้รับประทานหลังอาหารนี้ ส่วนมากเป็นยาทั่ว ๆ ไป ซึ่งไม่รบกวนต่อการดูดซึมของยาและอาจเพิ่มการดูดซึมของยาบางชนิดได้ หรือเป็นยาที่ถึงแม้จะถูกดูดซึมได้ดีในขณะท้องว่าแต่มีฤทธิ์ระคายเคืองกระเพาะอาหารมากเลยทีเดียว
     3. รับประทานพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที ยาที่มีฤทธิ์เป็นกรดทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุกระเพาะอาหารมักทำให้คลื่นไส้ อาเจียนเมื่อรับประทานขณะท้องว่าง หากรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เป็นผลหรือจนถึงขั้นเป็นแผลทะลุได้นะครับ ดังนั้นจึงต้องมีอาหารหรือน้ำช่วยทำให้เจือจาง ยาดังกล่าวได้แก่ ยาแก้ปวดข้อต่าง ๆ ยาแอสไพริน และยาสเตียรอยด์ เป็นต้น
     4. รับประทานก่อนนอน หมายความว่าให้รับประทานก่อนนอนตอนกลางคืนวันละ 1 ครั้ง เท่านั้น

     แต่ก็มีบางประเภทที่ต้องละลายในน้ำก่อนหรือเป็นยาประเภทอมเท่านั้นห้ามรับประทานเข้าไป ซึ่งวิธีใช้มีดังต่อไปนี้
           
วิธีละลายยาผงแห้งปฏิชีวนะ
     1. หากต้องใช้ยามากกว่า 1 ขวด ให้ละลายยาทีละขวด
     2. เคาะผงยาในขวดให้ร่วน
     3. ใช้น้ำต้มสุกที่เย็นแล้วหรือน้ำดื่มที่สะอาดละลายยา ห้ามให้น้ำร้อนหรือน้ำอุ่น
     4. เปิดฝาขวดยา เติมน้ำลงในขวดยาประมาณครึ่งขวด ปิดฝาขวด เขย่าให้ผงยาเปียกทั่วและกระจาย ไม่จับเป็นก้อน
     5. เปิดฝาขวดยาอีกครั้ง เติมน้ำลงในขวดจนถึงขีดที่กำหนดไว้บนขวดยาหรือขีดบอกบนฉลากยา
     6. ปิดฝาขวดยา เขย่าให้ยากระจายเข้ากันดี
     7. ก่อนรินยา ต้องเขย่าขวดก่อนทุกครั้ง ยาที่ผสมแล้วมีอายุการใช้ไม่เกิน 7 วัน และเก็บยาไว้ในที่เย็นหรือในตู้เย็นช่องธรรมดา
            
วิธีใช้ยาเม็ดสำหรับอมใต้ลิ้นรักษาอาการปวดแน่นอก


     1. อมยาใต้ลิ้นทันทีเมื่อมีอาการปวดแน่นอก
     2. ไม่ควรเคี้ยวยา กลืนยา หรือกลืนน้ำลายขณะอมยา
     3. เมื่ออมยาเม็ดแรกแล้วอาการไม่ดีขึ้น ให้อมยาเม็ดที่ 2 และ 3 ห่างกัน 5 นาที เมื่อครบ 3 เม็ดแล้ว ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบพบแพทย์
     4. สามารถอมยาป้องกันล่วงหน้าได้ 5 – 10 นาที ก่อนประกอบกิจกรรมที่คาดว่าจะทำให้มีอาการปวดแน่นอก


     ส่วนวิธีการใช้ยาประเภทอื่นๆจะกล่าวในครั้งต่อไปนะครับ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น